พลองเหมือด

พลองเหมือด ชื่อวิทยาศาสตร์ Memecylon edule Roxb. จัดอยู่ในวงศ์โคลงเคลง (MELASTOMATACEAE)

สมุนไพรพลองเหมือด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พลองดำ (ประจวบคีรีขันธ์)เหมียด (สุรินทร์)เหมือดแอ่ เป็นต้น

ลักษณะของพลองเหมือด

  • ต้นไม้พลองเหมือด เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 1-3 เมตร เปลือกของลำต้นขรุขระเป็นร่อง มีสีน้ำตาลดำ สามารถพบได้มากตามป่าโคกข่าว ป่าโคกหินลาดหนองคู-นาดูน ป่าโคกดงเค็ง ป่าชุมชนดงใหญ่ เป็นต้น
  • ใบพลองเหมือด เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบรูปวงรีคล้ายโล่ แผ่นใบเรียบเป็นมันมีสีเขียวเข้ม ม้วนขึ้นเขาหาเส้นกลางใบเล็กน้อย ปลายใบแหลม ขอบใบขนาน ความกว้างของใบประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร
  • ดอกพลองเหมือด เป็นช่อดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ กลีบดอกมีสีม่วง มีฐานรองดอกคล้ายรูประฆัง
  • ผลพลองเหมือด ผลเป็นผลเดี่ยวคล้ายลูกหว้า ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะมีสีม่วงเกือบดำ ข้างในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะกลม

IMG0008resize
IMG0315resize
IMG0007resize

สรรพคุณของพลองเหมือด

1.       พลองเหมือดมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรใช้บำรุงเลือด บำรุงน้ำนม เมื่อนำไปผสมกับเหมือดโลดใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้ป่า

2.       ลำต้นเมื่อนำมาตัดแล้วเอาไปเผาไฟ จะมีน้ำเลี้ยงออกมาตรงบริเวณรอยตัด เมื่อแตะเอาน้ำเลี้ยงมาถูฟัน ก็จะช่วยทำให้เหงือกและฟันแข็งแรงขึ้น

3.       รากหรือลำต้นสามารถนำมาต้มเป็นยาดื่มแก้โรคกระเพาะได้

4.       รากหรือลำต้นนำไปต้มผสมกับแก่นพลับเพลา แก่นจำ แก่นโมกหลวง ต้นสบู่ขาว ต้นกำแพงเจ็ดชั้น นำมาดื่มรักษาโรคหืดได้

5.       ต้นและใบ นำไปต้มเป็นน้ำดื่มวันละ 2 ครั้งหลังอาหารเช้า, เย็น ครั้งละ 1 แก้ว สามารถช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัดได้

6.       รากใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำไปต้มเป็นน้ำดื่ม ช่วยแก้ประดง หรืออาการโรคผิวหนังมีผดคันขึ้นเป็นเม็ดและมักมีอาการไข้ร่วมด้วย

7.       น้ำยางจากลำต้นนำมาใช้ทาส้นเท้าเพื่อลดรอยแตกได้

ประโยชน์ของพลองเหมือด

1.       ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้

2.       ยอดอ่อนสามารถนำไปรับประทานร่วมกับก้อยกุ้ง รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกหรือแจ่ว

3.       ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากมีดอกที่สวยงาม

4.       แก่นหรือใบสามารถนำไปต้มให้สัตว์กินเพื่อให้ร่างกายอุดมสมบูรณ์ได้

5.       ลำต้นของพลองเหมือดสามารถนำไปใช้ทำเป็นด้ามเสียมได้

6.       ลำต้นมีแก่นแข็ง โค้งได้ ชาวบ้านนิยมนำไปใช้ทำแอกวัว หรือเครื่องมือสำหรับคล้องคอวัวควายเมื่อออกไปไถนา

7.       ไม้ใช้ทำเป็นซี่ฟันของคราดนาเพื่อหว่านกล้าข้าว แก่นใช้ทำง่ามหนังสติก

8.       ลูกดิบใช้ทำเป็นของเล่นเด็กอย่างบั้งโป๊ะ (ของเล่นที่ทำด้วยไม้ไผ่เป็นลำ และขนาดรูของไม้ไผ่ต้องเท่ากับลูกพลองเหมือดพอดี)

9.       ใบแก่เมื่อนำมาคลุกเคล้ารวมกับพริกแล้วนำไปตากแดด จะช่วยทำให้พริกมีสีสด แถมยังช่วยป้องกันไม่ให้แมลงมากัดกินได้อีกด้วย

10.   แก่นสามารถนำไปย้อมไหมแทนหนามแขได้ โดยจะให้สีเหลือง

11.   กิ่งและลำต้นของพลองเหมือด นำไปเผาทำเป็นน้ำด่างใช้ในการย้อมครามของไหมและฝ้าย สามารถสกัดสีเหลืองออกได้

แหล่งอ้างอิง : หนังสือผักพื้นบ้านภาคอีสาน (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข), สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, เว็บไซต์อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, เว็บไซต์ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เว็บไซต์สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

 

Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to TwitterShare with friendsPrint this page

Facebook Like