ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) : เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือรังสีอินฟาเรด ไว้ในเวลากลางวันแล้วค่อยๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืน มีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกไม่เปลี่ยนเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
สำหรับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมโดยพิธีสารเกียวโต เป็นก๊าซที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เท่านั้น มีอยู่ 6 ชนิด ได้แก่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ก๊าซมีเทน (CH4) จากการย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ที่มีน้ำขัง ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) จากอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริก และการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในการเกษตร ก๊าซไฮโดรเจนฟลูออโรคาร์บอน (HFC) เป็นสารทำความเย็นทั้งในการค้าและภาคครัวเรือน ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) ที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตอะลูมิเนียม และผลิตสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) จากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนส่วนคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) ที่มีใช้อยู่ในเครื่องทำความเย็น และใช้ในการผลิตโฟมนั้นถูกจำกัดการใช้ในพิธีสารมอนทรีออลแล้ว
แต่ทุกวันนี้ชั้นบรรยากาศของโลกถูกปกคลุมด้วยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป รังสีอินฟาเรดที่ควรสะท้อนออกนอกโลกก็ถูกเก็บกักสะสมไว้ในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้พื้นผิวโลกร้อนขึ้น ปรากฏการณ์ที่ความร้อนถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศนี้ เป็นที่รู้จักกันว่า "ปรากฏการณ์เรือนกระจก" (Greenhouse Effect)