ติ้วขาว

ชื่อสมุนไพร

ติ้วขาว

ชื่ออื่นๆ

ตาว (สตูล) ติ้วส้ม (นครราชสีมา); ติ้วแดง ติ้วยาง ติ้วเลือด (เหนือ) ; แต้วหิน (ลำปาง) ติ้วเหลือง (เหนือ กลาง); ติ้วขน (กลาง และนครราชสีมา); เตา (เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Cratoxylum formosum (Jack) Dyer

ชื่อพ้อง

 

ชื่อวงศ์

Clusiaceae

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 3-12 เมตร อาจสูงได้ถึง 35 เมตร ผลัดใบ โคนต้นมีหนามเรือนยอดเป็นพุ่มกลม ลำต้นมีน้ำยางเหลือง กิ่งก้านเล็กเรียว กิ่งอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป เปลือกสีน้ำตาลแดง แตกล่อนเป็นสะเก็ด เปลือกในสีน้ำตาลแกมเหลือง และมีน้ำยางสีเหลืองปนแดงซึมออกมา ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรีแกมไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-4.5 เซนติเมตร ยาว 3-13 เซนติเมตร โคนใบสอบเรียบ ปลายใบมนหรือแหลม ขอบใบโค้งเรียบ ผิวใบมีขนละเอียดทั้งสองด้าน ใบอ่อนสีชมพูอ่อนถึงแดง เรียบ เป็นมันวาว ในฤดูหนาวจะเห็นเรือนพุ่มทั้งหมดเป็นสีชมพูอ่อน ใบแก่สีเขียวสด เรียบ เกลี้ยง ผิวใบด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีต่อมกระจายทั่วไปใบแก้สีแดงหรือสีแสด เส้นใบข้าง 7-10 คู่ ซึ่งจะโค้งจรดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว 0.6-1.6 เซนติเมตร ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ กลีบดอกสีขาวอมชมพูอ่อนถึงแดง กลีบดอกบาง มี 5 กลีบ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกตามซอกใบ ร่วงง่าย ดอกบานขยายออกราว 1.2 เซนติเมตร มีก้านเรียว เล็ก และกาบเล็กๆที่ฐานกลีบด้านใน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก สั้น สีเหลือง ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็น 3 กลุ่ม เกสรเพศเมีย มีก้านเกสรตัวเมียสีเขียวอ่อนมี 3 อัน มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กลีบเลี้ยง มี 5 กลีบ สีเขียวอ่อนปนแดง ผลแห้ง แตกได้ รูปไข่แกมกระสวย กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร ผลมีนวลขาวติดตามผิว เมื่อแก่มีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ ผลแบบแคปซูล ปลายแหลม ผิวเรียบและแข็ง ขนาด กว้าง 0.4-0.6 เซนติเมตร ยาว 1.3-1.8 เซนติเมตร แตกออกเป็น 3 แฉก มีเมล็ดสีน้ำตาล ที่ฐานมีกลีบเลี้ยงยังคงอยู่ พบตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ออกดอกช่วงเดือน มกราคมถึงพฤษภาคม ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด


 

Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to TwitterShare with friendsPrint this page

Facebook Like