ชื่อสมุนไพร |
รักใหญ่ |
ชื่ออื่นๆ |
รัก (กลาง), ฮักหลวง (เหนือ), น้ำเกลี้ยง (สุรินทร์), มะเรียะ รักเทศ (เชียงใหม่), รัก ชู้ สู่ (กาญจนบุรี) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Gluta usitata (Wall.) Ding Hou. |
ชื่อพ้อง |
Melanorrhoea usitata Wall. |
ชื่อวงศ์ |
Anacardiaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงได้ถึง 25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างกลม เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทาแตกเป็นร่องยาว เปลือกชั้นในสีชมพูอ่อน กิ่งอ่อนและยอดปกคลุมด้วยขนยาวสีขาว กิ่งแก่เกลี้ยง หรือมีขนสั้นๆ ใบคล้ายใบมะม่วงหิมพานต์ มักพบแมลงไข่ไว้ตามใบและจะเกิดเป็นตุ่มกลมๆตามใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับเป็นกลุ่มตอนปลายกิ่ง ใบรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง 3.5-12 ซม. ยาว 20-30 ซม. ปลายแหลมหรือกลม โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบแก่มีสีเขียวเข้ม มีไขปกคลุม ผิวใบมีขนสีน้ำตาลทั้งสองด้านโดยเฉพาะเมื่อใบอ่อน มีขนปกคลุมหนาแน่น หลังใบมีขนสีน้ำตาลประปราย ท้องใบมีขนหนาแน่นแต่จะหลุดไปเมื่อใบแก่เต็มที่ เส้นแขนงใบ ข้างละ 15-25 เส้น นูนชัดเจนทางด้านบน เป็นแบบร่างแหชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบยาว 1.5-2.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง หรือใกล้ปลายกิ่งและซอกใบ มักทิ้งใบก่อนออกดอก ดอกเริ่มบานจากสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูและแดงสด ดอกออกเป็นกลุ่มช่อหนาแน่นในซอกใบบนๆ ช่อดอกยาวได้ถึง 35 ซม. ก้านดอกยาว 1-1.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม สีน้ำตาลปกคลุม ดอกย่อยจำนวนมาก ดอกตูม รูปขอบขนาน กว้างประมาณ 2.5 มม. ยาวประมาณ 5 มม. มีขนประปราย ที่ปลายมีขนเป็นกระจุก กลีบดอกสีขาวมีแถบสีเหลืองแกมเขียวตรงกลาง กลีบดอก 5-6 กลีบ แผ่กว้าง ปลายแคบแหลม ด้านหลังกลีบมีขน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 แฉก ในดอกแก่กลีบเลี้ยงรูปร่างคล้ายหมวก กว้าง 0.7-1.8 มม. ยาว 3-7.5 มม. สีแดง มี 5 กลีบ ผิวด้านในมีขนสั้นนุ่ม กลีบดอก รูปขอบขนาน กว้าง 1-2 ซม. ยาว 6-7 ซม. ปลายแหลมหรือมน มีขนอุยหนาแน่น กลีบดอกขยายขนาดขึ้น และกลายเป็นปีกเมื่อติดผล จานฐานดอกเกลี้ยง เกสรเพศผู้ประมาณ 30 อัน ยาวประมาณ 1 ซม. รังไข่กลม ก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน ติดด้านข้างของรังไข่ ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-3 ซม. มีส่วนของกลีบดอกที่ขยายเป็นปีก ที่โคนก้านผลสีแดง มี 5 ปีก รูปขอบขนาน ระหว่างโคนปีกกับผลมีก้านเชื่อมยาว 1.5 ซม. ปีกยาว 5-10 ซม. มีเส้นปีกชัดเจน พบขึ้นกระจายทั่วไป ในป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้าโล่ง เขาหินปูน ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,000 เมตร ออกดอกและติดผล ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์