ชื่อสมุนไพร |
แฟบน้ำ |
ชื่ออื่นๆ |
ก้างปลาขาว (สุโขทัย), หมักแฟบ (พิษณุโลก), หูด้าง (สุรินทร์), หัวลิง (นครพนม, อุบลราชธานี, สุรินทร์, ขอนแก่น, นครราชสีมา), แควบ แฟบ (ชลบุรี), แฟบหัวลิง (ใต้) หูลิง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Hymenocardia punctata Wall. ex Lindl. |
ชื่อพ้อง |
Hymenocardia laotica Gagnep., Hymenocardia wallichii Tul., Samaropyxis elliptica Miq. |
ชื่อวงศ์ |
Phyllanthaceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 1.5-5 เมตร เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาลเทา มีน้ำยางใส ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ รูปขอบขนานหรือรูปวงรี กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2.5-7 เซนติเมตร ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง เป็นมันวาว แผ่นใบด้านล่างมีขนและต่อม มีขนหนาแน่นที่เส้นใบ และเส้นกลางใบ เส้นใบข้าง 6-8 คู่ หูใบ ยาว 1-3 มิลลิเมตร กว้าง 0.2-1 มิลลิเมตร ก้านใบยาว 0.5-1.2 เซนติเมตร ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ดอกมีขนาดเล็ก ดอกตัวผู้เป็นช่อแบบหางกระรอก (catkins) ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ดอกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 มิลลิเมตร สีแดงถึงม่วง มีขนละเอียด กลีบดอกรูปสามเหลี่ยม ยาว 0.5 มิลลิเมตร กว้าง 0.4 มิลลิเมตร วงกลีบเลี้ยงยาว 1.5 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาว 0.5 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 4 หรือ 5 อัน อยู่รวมกับเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน อับเรณูยาว 1 มิลลิเมตร กว้าง 0.7 มิลลิเมตร ดอกตัวเมียเป็นช่อกระจะสั้นๆ ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ใบประดับร่วงง่าย เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 0.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ขนาดยาว 1.2 มิลลิเมตร กว้าง 0.4-0.5 มิลลิเมตร รังไข่สีเขียว ยอดเกสรเพศเมียยาว 8.5 มิลลิเมตร สีแดงม่วงเข้มอมน้ำตาล ผลแห้งแตก ไม่มีปีก คล้ายรูปหัวใจ ลักษณะกลมแบน กว้าง แบ่งเป็น 2 พู ด้านบนหยักเว้าเล็กน้อย กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายผลมียอดเกสรเพศเมียติดคงทน ผลอ่อนสีเขียวปนเหลือง ผลแก่สีน้ำตาลเข้ม พอแห้งแตกออกตามแนว มีเมล็ดเดียว พบตามป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบ ป่าละเมาะริมน้ำ ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 235 เมตร ออกดอกราวเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ผลรับประทานได้