ชื่อสมุนไพร |
มะกอกเลื่อม |
ชื่ออื่นๆ |
กอกกัน (อีสาน) มะกอกเกลื้อน (ราชบุรี) มะเลื่อม (จันทบุรี, พิษณุโลก) มะกอกเลือด (ใต้) โมกเลื่อม (ปราจีนบุรี) มะเกิ้ม (เหนือ) มักเหลี่ยม (จันทบุรี) มะเหลี่ยม (นครราชสีมา) มะเหลี่ยมหิน (มหาสารคาม) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Canarium sabulatum Guillaumin |
ชื่อพ้อง |
Canarium kerrii Craib, C. vernosum Craib |
ชื่อวงศ์ |
Burseraceae |
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 10-25 เมตร ลำต้นตั้งตรง เรือนยอดกลม เปลือกสีน้ำตาลอมเทาถึงเทาแก่ แตกเป็นสะเก็ด หรือแตกเป็นร่องตามยาว มียางใสหรือขาวขุ่น เมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาลดำ เปลือกชั้นในสีน้ำตาลอ่อนมีขีดเส้นขาวๆ กิ่งอ่อนมีขนสี้น้ำตาอมส้มหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย 2-5 คู่ เรียงตรงข้าม ใบประกอบยาว 12-14 ซม. แกนกลางยาว 8.5-12 ซม. ใบรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 8-9 ซม. ยาว 10-18 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนมนหรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบจักฟันเลื่อยถี่ แผ่น ใบกึ่งหนา คล้ายแผ่นหนัง หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขน เส้นแขนงใบ ข้างละ 8-15 เส้น ก้านใบย่อยยาว 0.5-1.2 ซม. ก้านใบร่วมมีหูใบแคบ 1 คู่ ขนาด 10-25 มิลลิเมตร ใบแก่สีแดงเข้ม ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ยาว 7-25 ซม.ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมาก มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้มักเป็นแบบช่อกระจุกแยกแขนงยาว 7-25 เซนติเมตร ช่อดอกเพศเมียมักเป็นแบบช่อกระจะยาว 8-10 เซนตเมตร กลีบดอกสีขาวแกมเหลือง กลีบเลี้ยงโคนกลีบเชื่อมติดกัน เป็นรูปถ้วย ยาว 2-3 มม. ปลายแยกเป็น 3 แฉก ยาว 0.5-1 มม. มีขนนุ่มทั้งสองด้าน กลีบดอก 3 กลีบ รูปขอบขนาน กว้าง 2-2.5 มม. ยาว 7-8 มม. เกสรเพศผู้ 6 อัน เชื่อมกันที่ฐานเป็นท่อสั้นๆ ช่อดอกเพศผู้ยาว 7-11 มม. มีขนทั่วไป รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรีมี 3 ช่อง แต่ละช่อง มีออวุล 2 เม็ด ผลสดรูปกระสวย ช่อยาว 2.5-8 เซนติเมตร มีประมาณ 1-4 ผลต่อช่อ ผลอ่อนสีเหลือง ผลแก่สีเขียวอมเหลือง กว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 2.5-3.5 ซม. โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดทน ขนาดกว้าง 6-15 มิลลิเมตร เมล็ดรูปกระสวย 3 เมล็ด เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ชั้นหุ้มเมล็ดแข็งมาก พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะและป่าหญ้าทั่วไป ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,200 เมตร ออกดอกราวเดือน มกราคมถึงพฤษภาคม ติดผลเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม