ชื่อสมุนไพร

ชะมวง หรือ ส้มโม่ง

ชื่ออื่นๆ

หมากโมง (อุดรธานี), กะมวง (ใต้), ส้มมวง (นครศรีธรรมราช) ส้มโมง

ชื่อวิทยาศาสตร์

Garcinia cowa Roxb. ex Choisy

ชื่อพ้อง

Cambogia crassifolia Blanco, Garcinia cornea Roxb. ex Sm., G. roxburghii Wight, G. wallichii Choisy, Oxycarpus gangetica Buch.-Ham

ชื่อวงศ์

Clusiaceae

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงกลาง สูง 15-30 เมตร ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มเป็นรูปกรวยคว่ำทรงสูง เปลือกสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นสะเก็ด มีน้ำยางสีเหลือง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปวงรีแกมใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนาและแข็งเปราะ ก้านใบสีแดงยาว 0.5-1 เซนติเมตร  ผิวใบเป็นมัน ใบอ่อนสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมม่วงแดง ใบแก่สีเขียวเข้ม บริเวณปลายกิ่งมักแตกเป็น 1-3 ยอด เส้นใบไม่ชัด แต่ด้านหลังของใบเห็นเส้นกลาง ดอกแยกเพศ อยู่คนละต้น ดอกตัวผู้ออกตามกิ่งเป็นกระจุก ดอกย่อย 3-8 ดอก เกสรตัวผู้มีจำนวนมากเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม กลีบดอกสีเหลือง 4 กลีบ รูปรี แข็งหนา มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบกลม เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-2.5 เซนติเมตร ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว ดอกมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย มีปลายเกสรเป็น 4-8 เหลี่ยม เกสรเพศเมียออกปลายกิ่ง เกสรเพศผู้เทียมเรียงอยู่รอบๆรังไข่ ก้านเกสรติดกันเป็นกลุ่มๆ ปลายก้านมีต่อม 1 ต่อม ผลสด รูปกลมแป้น ผิวเรียบ ขนาด 2.5-6 เซนติเมตร เมื่อสุกสีเหลืองแกมส้มหม่น มีร่องตื้นๆ 5-8 ร่อง ด้านบนปลายบุ๋ม และมีชั้นกลีบเลี้ยง 4-8 แฉกติดอยู่ เนื้อหนา สีเหลือง มีรสฝาด มีเมล็ดขนาดใหญ่ 4-6 เมล็ด รูปรี หนา เรียงตัวกันเป็นวงรอบผล พบทั่วไปในป่าชื้นระดับต่ำ มีความทนต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆในจีนัสเดียวกัน พบตามป่าที่ระดับความสูง 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ใบมีรสเปรี้ยว นำมาใส่แกง ปรุงอาหาร หรือกินเป็นผักสด ผลเมื่อสุกรับประทานได้ มีรสเปรี้ยว แต่มียางมากทำให้ติดฟัน

Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to TwitterShare with friendsPrint this page

Facebook Like